โบราณสถานและโบราณวัตถุ

รูปหล่อหลวงพ่อลอย

หลวงพ่อลอย เจตสิกาโร อดีตเจ้าอาวาสวัดเวียงสระรูปที่ 5 

ภูมิลำเนาเดิม เกิดที่ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณที่ตั้งของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเวียงสระ (สุขศาลา) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2441 ในสกุล แสงมาก (แสงอนันต์) ได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้ไปศึกษาพระธรรม ที่อำเภอพุนพิน ภายใต้การดูแลจากพระยาคงคา เมื่อครบ 22 ปี พ.ศ. 2463 ได้อุปสมบทเป็นพระ และต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสของวัดเวียงสระได้รับสมณศักดิ์ ชั้นพระครูประทวน

อุปนิสัย จะถือวาจาสัตย์เป็นอย่างมาก เป็นพระนักพัฒนา มีวาจาสิทธิ์ท่านถึงแก่มรณภาพ เมื่อ 6 เมษายน 2504 อายุ 63 ปี พรรษา 41 ชาวบ้านจึงสร้างเหรียญที่ระลึกและรูปหล่อเท่าตัวจริงของท่านประดิษฐานไว้ยังมณฑปบริเวณวัดเวียงสระ เพื่อสักการะบูชา เป็นพระเกจิที่มีความศักดิ์สิทธิ์รูปหนึ่ง ที่มีผู้ประสบพบเห็นและได้เล่าขานอยู่เสมอมาจนถึงปัจจุบัน

 

พลับพลาที่ประทับ

สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเสด็จ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๑๗  ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม  หลังคาเป็นรูปจัตุรมุข

 

 

 

 

 

พระนารายณ์ วิษณุ จตุรภุช

ศิลปะปัลวะ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒  สูง ๑๔๘ เซนติเมตร  มีลักษณะเป็นประติมากรรม หินสลักรูปพระวิษณุจตุรภุชยืน ๔ กร  พระหัตถ์ขวาล่างทรงถือก้อนดิน พระหัตถ์ซ้ายล่างทรงถือคฑาแนบพระองค์  พระหัตถ์บนทั้งสองข้างหักหายไป  ทรงสวมกีรฎมกุฎ  ซึ่งด้านบนภายออก ทรงภูษาโจงยาวกรอมข้อพระบาท ขมวดเป็นปมใต้พระนาภี  และมีผ้าคาดพระโสณีตามแนวนอน พระเนตรเบิก แย้มพระสรวล พระวรกายแสดงกล้ามเนื้อที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ  และนาภีที่แอ่นขึ้นและพระปฤษฎางค์ที่เว้าเข้า  แสดงเห็นลมปราณของโย

 

 

 

 

พระวกุฎ ไภรวะ (พระศิวะปางน่ากลัว)

 ศิลปะโจฬะ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖  สูง ๕๑ เซนติเมตร มีลักษณะเป็นประติมากรรมหินสลักรูปพระศิวะยืนเปลือยกายมีสามตา มีเขี้ยว พระเกศาเป็นเปลวเพลิง สวมสร้อยคอลูกประคำยาวถึงแข้ง สวมสายยัชโญปลีตรูปนาคหรือรูปงู มีสายกฏิสูตรสวมสร้อยคอ ตุ้มหู กำไลมือ กำไลเท้า พระหัตถ์ซ้ายบนถือถ้วยหัวกะโหลก พระหัตถ์ขวาล่างถือบ่วงบาศ พระหัตถ์ขวาบนถือตามรูป(กลองสองหน้าเล็กๆ มีสุนัขอยู่ข้างหลัง)

 

 

 

 

 

พระวิษณุ 4 กร นูนสูง

ศิลปะโจฬะ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สูง ๕๓ เซนติเมตร  มีลักษณะเป็นประติมากรรมหินสลักรูปพระวิษณุยืน พระวรกายค่อนข้างผอม พระโสณีเล็ก พระพักตร์ยาว พระเนตรมองต่ำ พระนาสิกโต พระโอษฐ์หนา พระหัตถ์ขวาบนทรงถือสังข์ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือจักร โดยวางไว้บนพระดัชนี และพระมัชฌิมาของพระหัตถ์และเชื่อมกับพระเศียรด้วยแผ่นศิลา พระหัตถ์ขวาล่างทรงแสดงปลงประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายล่างวางพระโสณี ทรงพระภูษาโจงสั้น คาดรัดพระองค์กับสวมกีรฎมกุฎทรงสูง ซึ่งสอบเข้าด้านบนเป็นเครื่องประดับตกแต่งพระวรกาย พร้อมคาดสายยัชโญปวีดาทับสายอุทรพันธะ

 

 

 

พระศากยมุณี

พระพุทธรูปหินทราย เป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกๆปางประทานพร นูนสูง ศิลปะคุปตะ สกุลช่างสารนาถอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 สูง 16 เซนติเมตร พบจากการสำรวจเมืองโบราณเวียงสระ บริเวณวิหารร้างกลางเมืองเวียงสระ โดย ดร.เอช จี ควอริทช์ เวลส์(Dr. H.G. QuaritehWailes) ชาวอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2477  มีลักษณะเป็นประติมากรรมรูปพระพุทธ รูปประทับยืน ท่าตริภังค์(เอียงสระโพก) ครองจีวรคลุมบางแนบพระวรกาย พระหัตถ์ขวาแสดงท่าประทานพร พระหัตถ์ซ้ายและพระบาททั้งสองหักหายไป

 

 

 

พระพุทธรูปหินทรายแดงในเมืองชั้นใน

สร้างไว้ในวิหารของเมืองในลักษณะพระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเหลือบต่ำ แย้มพระสรวลเล็กน้อย ขมวดเกศาเล็ก ไม่มีไรพระศก ครอบจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายสังฆาฏิยาวถึงพระนาภีส่วนปลายตัดตรง ปางมารวิชัย 7 องค์ ปางสมาธิ 1 องค์ ศิลปะอิทธิพลปาละ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17

 

 

 

 

 

 

พัทธสีมาหินทรายแดง

ตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ มีลักษณะเป็นเสมาคู่ทำด้วยหินทรายแดงมีลวดลายแกะสลักไว้ ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ลักษณะที่ควรศึกษาคือ วัดที่มีพัทธสีมาคู่มีน้อยมาก วัดส่วนใหญ่มักจะสร้างเพียง 1 ใบ เท่านั้น

ข้อสังเกตที่มีการสร้าง พัทธสีมาคู่ คือ

1.จะต้องเป็นวัดที่กษัตริย์เป็นผู้สร้าง

2. มีการนับถือพุทธศาสนา 2 นิกาย ของวัดเวียงสระ มีนิกายมหายาน และนิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์

 

 

 

 

คูเมือง

ใช้กำหนดเขตเมือง ด้านทิศตะวันออกขุดคูเมืองเชื่อมจากลำน้ำคลองตาล อ้อมไปทางทิศใต้ จดลำน้ำด้านทิศตะวันตก มีคูแบ่งเมืองออกเป็น 3 ส่วน  มีประตูเมืองด้านทิศตะวันออก 2 แห่ง  ด้านทิศใต้ 1 แห่ง  และมีประตูเชื่อมเมืองนอกกับเมืองในอีก ๑ แห่ง

- คูเมืองในมีความกว้าง 4.50 เมตร  มีความลึก 1.00 เมตร

- คูเมืองนอกมีความกว้างประมาณ 3.50 เมตร  ความลึกเฉลี่ยประมาณ 0.50 เมตร

ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกใช้ลำน้ำคลองตาลเชื่อมกับลำน้ำตาปี

 

 

 

 

ฐานพระนารายณ์

ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เมืองชั้นใน ซึ่งฐานพระนารายณ์ที่พบอยู่กลางเมืองโบราณเวียงสระ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะเป็นฐานอาคารก่ออิฐไม่สอปูน อิฐมีหลายสี หลายขนาดมีการเรียงอิฐ  3 ชั้น มีสภาพชำรุดมากส่วนประกอบการก่อฐานในลักษณะบัวคว่ำ บัวหงาย

จากการขุดสำรวจเมื่อปี 2555 พบประติมากรรมที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพราหมณ์ พระนารายณ์หลายองค์พบพระหัตถ์ขวาบนทำจากหินสีเขียว พบเศียรพระพุทธรูปหินทรายแดงขนาดเล็ก พบอิฐที่กำหนดอายุได้คือ 1815 +/- 121 ปีมาแล้ว หรือ 1360 ปี ถึง 1694 ปี มาแล้วอยู่ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 9 - 10

 

 

 

 

เจดีย์เมืองใน

สร้างขึ้นเพื่อการเคารพบูชาแทนพระพุทธเจ้า หรือเป็นอนุสรณ์ของบุคคลสำคัญประจำเมืองลักษณะการก่อสร้างโดยใช้อิฐดินเผาไม่สอปูนเอาหัวออก  สภาพปัจจุบันชำรุดหักพังมาก ยังหารูปทรงและขนาดไม่ได้ กำหนดอายุราวศตวรรษที่ 15

 

 

 

 

 

 

สระน้ำโบราณ

เมืองโบราณเวียงสระ  มีสระน้ำอยู่  2  สระ  อยู่ประจำเมืองใน  1  สระ  และเมืองนอก  1  สระ  เพื่อใช้อุปโภคบริโภคของบุคคลชั้นสูงของเมืองนั้นๆ

สระน้ำแห่งนี้เป็นที่มาของชื่อบ้าน  นามเมือง  คือ บ้านเวียงสระ  ตำบลเวียงสระ  อำเภอเวียงสระ

เวียงสระ  คือ  เมืองที่มีสระน้ำหรือเมืองที่มีสระน้ำล้อมรอบ

 

 

 

 

 

หอระฆัง

สร้างเมื่อ  พ.ศ.  2496  ศิลปะต่อมุม  12  เพื่อใช้เป็นสัญญาณเรียกประชุมคณะสงฆ์  เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

 

 

 

 

 

 

 

ศาลาพระวิหาร

  สำหรับประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา และที่ประชุมของประชาชนในชุมชน ศาลาหลังเดิมสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2496 ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ โดยมีการปรับเปลี่ยนสถานที่เล็กน้อย คือในสภาพเดิมด้านหลังพระวิหารมีพระเจดีย์อยู่ 1 องค์ ตั้งอยู่ตรงตำแหน่งพระพุทธศิลาทรายแดงทั้ง 6 องค์ ในปัจจุบัน เดิมพระพุทธรูปทั้ง 6 องค์ ตั้งอยู่ตรงกลางพระวิหารในปัจจุบัน พระพุทธรูปดังกล่าว กำหนดอายุราวสมัยอยุธยาตอนปลาย ศิลปะตระกูลช่างไชยา

  สาเหตุที่ต้องปรับปรุงสถานที่ เนื่องจากพระเจดีย์ได้ชำรุดพังลงมา ภายในพระเจดีย์บรรจุพระพุทธรูปไว้จำนวนมากจึงเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปทั้ง 6 องค์ มาตั้งทับพระเจดีย์ไว้

 

 

 

หอไตร

สร้างขึ้นเพื่อใช้เก็บพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ควรแก่การเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยก่อสร้างไว้กลางน้ำป้องกัน หนู มด ปลวก ทำลาย

ลักษณะการก่อสร้างเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใต้ถุนสูง มีหน้าจั่ว 2 ด้าน มีรัศมีแสงพระอาทิตย์ มีปีกทั้ง 4 ด้าน มีระเบียงรอบ มีสะพานข้าม สามารถดึงกลับเมื่อข้ามเสร็จแล้ว

  สร้างเมื่อ พ.ศ. 2465

 

 

 

 

ศาลาท้าวอู่ทอง

เป็นสถานประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อของคนในชุมชน  ซึ่งมีมากกว่า 100 ปี  ยามใดที่มีเรื่องทุกข์ร้อนก็จะไปบนบานต่อท้าวอู่ทอง  และทำการแก้บน  ปีละ 1 ครั้ง  ในวัน แรม 2 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี  มีมโนราห์รำแก้บน  ลักษณะคล้ายการทรงเจ้า เข้าทรง ผู้ที่มาเข้าร่างทรง เช่น  ท้าวอู่ทอง  พระม่วง  พ่อท่านในกุฏิ ตาทวด  พรานบุญ  แม่แขนอ่อน  แม่ศรีมาลา  เป็นต้น

 

 

 

 

 

อู่เรือ

อู่เรือหรือท่าจอดเรือ  ปรากฏใหญ่ 5 แห่ง  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกโดยอาศัยลำน้ำคลองตาลและแม่น้ำหลวงหรือแม่น้ำตาปี  ใช้เดินทางติดต่อขนส่งสิ่งของสินค้าระหว่างเมืองเวียงสระกับดินแดนอื่นๆ เช่น จีน เวียดนาม เขมร ศรีสัชนาลัย สุโขทัย เมืองคูบัว ราชบุรี อาหรับ อินเดีย

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบคือ

 

 

 

 

  1. เครื่องถ้วยลายคราม  สมัยราชวงศ์ชิง  จากแหล่งเตาอันซี มณฑลฝูเจี้ยนแหล่งเตาคงจี  มณฑลฝูเจี้ยนแหล่งเตาจิ่งชุน  แหล่งเตาเต๋อเจื้อน มณฑลเจียง
  2. เครื่องถ้วยลายครามสมัยราชวงศ์หมิง
  3. ถ้วยเคลือบเหนียว  สมัยราชวงศ์หยวน  จากเตาฟูเถียน  เตาหลงฉวน
  4. เครื่องถ้วยศรีสัชนาลัย  เตาเกาะน้อย
  5. เครื่องถ้วยเขมร  เตาบุรีรัมย์
  6. เครื่องถ้วยสุโขทัย  เคลือบขาว  เตาเมืองเก่า
  7. เครื่องถ้วยราชวงศ์ถัง เตาเหม่ยเสี้ยน
  8. เครื่องดินเผาพื้นเมือง  จากคูบัวราชบุรี
  9. เครื่องถ้วยเวียดนาม  สมัยราชวงศ์เตวิน